ABOUT GAT

Somchai Leelakusolvong, M.D.
GAT President 2023 - 2024

กราบเรียนอาจารย์ที่รักและเคารพ และสมาชิกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยที่นับถือ

นโยบายหลักในช่วง 2 ปีนี้มีอะไรบ้าง

สมาคมมีบทบาทหลักอยู่ 3 ประการคือ การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเพื่อสร้างแพทย์ระบบทางเดินอาหาร การให้ความรู้ทางวิชาการทั้งสำหรับสมาชิก และประชาชนทั่วไป และสุดท้ายคือการเป็นแบบอย่างและเป็นสถาบันที่ใช้อ้างอิงได้ ในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ผมพยายามคิดว่า อะไรจะเป็นสิ่งใหม่ ๆ สำหรับสมาคมเราบ้าง ถ้ามองดูโลกปัจจุบันจะเห็นได้ว่า social media เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกเราไปมาก ข้อมูลข่าวสาร การติดต่อสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ผมจึงอยากใช้ social media นี้ ให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น และ เราจะ go inter กัน

ใกล้ชิดกันมากขึ้น หมายถึงทั้งสมาคมกับสมาชิก และสมาคมกับประชาชนทั่วไป ส่วน go inter คือผมอยากให้สมาคมมีบทบาทในนานาชาติมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าอย่างน้อยให้เป็น the most recognized gastrointestinal society in Southeast Asia

สิ่งที่จะทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริงได้คือพันธกิจ

พันธกิจแรก คือ เราต้องมีการร่วมมือกันของแพทย์ทางเดินอาหารของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย

พันธกิจที่สอง คือ เราควรจะเป็นสถาบันที่เป็น reference สิ่งที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดคือ guideline หรือ consensus สมาคมในฐานะที่เป็นสมาคมวิชาชีพแพทย์ระบบทางเดินอาหาร เราจึงควรเป็นสถาบันที่สร้างข้อมูลที่ใช้ในการอ้างอิงที่ผ่านเรามี guideline อยู่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมที่สามารถทำได้ และบาง guideline ก็มีข้อมูลใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเบื้องต้นคงตั้งเป้าหมายระดับชาติ แต่ถ้ามีความร่วมมือในการทำ guideline ในระดับนานาชาติ จะยิ่งดียิ่งขึ้น และดีที่สุดหากสมาคมเราเป็นผู้ริเริ่ม

พันธกิจที่สาม คือ ให้สมาชิกกับสมาคมได้สื่อสารกันมากขึ้นผ่าน social media ผมคิดว่าสิ่งที่สมาชิกอยากได้มากที่สุดคงเป็นการอัพเดทความรู้ทางวิชาชีพ เช่นการจัดหาความรู้ใหม่ ๆ แนวทางเวชปฏิบัติใหม่ ๆ ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

สมาคมกับสมาชิกเราจะสื่อสารกันให้มากขึ้นได้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านสมาชิกกับสมาคมเราติดต่อสื่อสารกันได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นการติดต่อผ่านคุณพรทิพย์เลขานุการสมาคมเป็นหลัก ผมจึงอยากทำ social media platform ให้เราสื่อสารกัน พูดคุยกันได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นมีการตั้ง social media platform ที่สามารถช่วยจัดหาข้อมูลใหม่ ๆ เช่น guideline หรือ landmark paper โดยอาจารย์แพทย์ที่สนใจในด้านนั้น สรุปประเด็นสำคัญสั้น ๆให้เข้าใจง่าย เป็นรูปภาพ หรือ สไลด์ power point 1 หน้า แล้วมีลิงค์ไปยัง full paper และอีกด้านหนึ่งคือเป็น social media ที่จะช่วยในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังศูนย์เฉพาะทางในโรงเรียนแพทย์ให้มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งต้องหาคนที่จะมาช่วยดูแลสิ่งต่างๆเหล่านี้ในการบริหารจัดการให้มี content ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ตอนนี้อยู่ในช่วงจัดหาทีมงานอยู่

สำหรับประชาชนทั่วไป สมาคมจะมีบทบาทมากขึ้นอย่างไร

ส่วนตัวผมอยากส่งเสริมทั้ง CSR และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ในฐานะสมาคมวิชาชีพ เช่น ยังดงสนับสนุนการจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองและให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ อยากจัดเป็นสัปดาห์ให้ความรู้สำหรับประชาชน แต่คงต้องดูในเรื่องรูปแบบและความพร้อมต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้แน่ ๆ ยังคงเป็นเรื่องของ social media ทุกวันนี้มีข้อมูลใน social media มากมาย ถูกบ้าง ผิดบ้าง ในฐานะสมาคมวิชาชีพ เราจึงมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน

อาจารย์มองการสร้างความร่วมมือระหว่างสมาคมเฉพาะทางต่าง ๆ ของโรคระบบทางเดินอาหารในอนาคตอย่างไร

สมาคมเฉพาะทางในที่นี้ หมายถึง สมาคมแพทย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และ สมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว ผมคิดว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมยังดีมาก ๆ เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่รู้จักกันดี และอาจารย์บางท่านก็มีบทบาทในหลาย ๆ สมาคมอยู่แล้วแต่ในอนาคตแต่ละสมาคมจะมีจำนวนสมาชิกมากขึ้นทำให้มีความเป็นเอกเทศมากขึ้น ซึ่งก็มีข้อดีในการทำให้มีความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น แต่ละสมาคมจะเติบโตไปในแนวทางที่ชัดเจนของตนเอง แต่ยังมีความร่วมมือกันอยู่ เพราะสุดท้ายผมเชื่อว่าแต่ละสมาคมยังมีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่น ในแง่ของการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ผมอยากให้สมาคมเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ทั้งสมาคมเฉพาะทางและสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร

ปลายปีนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม APDW การประชุมนี้มีความพิเศษอย่างไร

PDW (Asian Pacifc Digestive Week) เป็นงานประชุมใหญ่ระดับนานชาติของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ปีนี้เราจัดกันในวันที่ 6-9 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นการกลับมาประชุมแบบ onsite ครั้งแรกหลังสถานการณ์ COVID ในธีม "Optimizing strategies for maximizing outcomes" เนื้อหาครอบคลุมทั้ง hepatology, motility, endoscopy และ general CI โดยแบ่งเป็น 4 ห้องการประชุมไปพร้อม ๆ กัน รูปแบบมีทั้งการบรรยาย state of the art, multidisciplinary symposium, guideline summarize และ year-in-review นอกจากนั้นยังมี hand-on work shop และ live demonstration การส่องกล้องทางเดินอาหาร เราเชิญ speaker ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติทั้งจากยุโรป อเมริกา และน้นในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก แน่นอนว่าจะมี speaker ไทยร่วมด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์เราได้แสดงศักยภาพในเวทีระดับนานาชาติ นอกจากงาน APDW แล้ว สมาคมเราอาจมีความร่วมมือในการประชุมวิชาการกับสมาคมนานาชาติมากขึ้น เช่น การมี joint symposium ในงานประชุมของ APAGE, AGA หรือ ร่วมกับฮ่องกง รวมถึงประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์

สุดท้ายนี้ อาจารย์อยากฝากอะไรไปถึงสมาชิกของสมาคม

ที่ผ่านมาผมได้ทำงานส่วนกลางของสมาคมมาตลอด จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมอยู่ในสังคมที่ดีมาก ๆ คณะกรรมการทุกท่านจากหลากหลายสถาบันมีความตั้งใจจริง มีทัศนคติที่มองถึงประโยชน์ส่วนกลางและประเทศชาติเป็นหลักเสมอมา ที่สำคัญข้อดีของสมาคมเราคือ มีความเป็น unity เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งที่ผมอยากจะเห็นมากขึ้นคือ อยากให้ความเป็น unity ของสมาคมเรานี้ เป็นพลังที่จะผลักดันให้เกิดประโยชน์ขึ้นกับประชาชน ประเทศชาติ ทั้งความรู้ วิจัย และ บทบาทชี้นำสังคม

ต้องขอบคุณคณะกรรมและสมาชิกทุกท่านอีกครั้งและหวังว่าสมาคมเราจะยั่งยืน เติบโต เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อไป

 

ขอสวัสดีปีใหม่และเนื่องศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายโปรดประทานพรให้ท่านและครอบครัวประสบสิ่งดีงามและมีความสุขสมบูรณ์ในชีวิตตลอดไป

นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์
นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย
วาระ พ.ศ.2566-2567