GAT KNOWLEDGE
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
ทีมกรรมการฝ่ายกิจกรรมสังคม สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย
โดย อ.เกศินี เธียรกานนท์, อ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล, อ.สติมัย อนิวรรณน์, อ.พิเศษ พิเศษพงศา และ อ.ทยา กิติยากร เป็นผู้ให้การรับรองเนื้อหาบทความ
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ การตรวจค้นหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในขณะที่โรคยังไม่ก่อให้เกิดอาการ
ทำไมต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
เหตุผลที่คนทั่วไปทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มี 3 ข้อได้แก่
-
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยมากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเป็นมะเร็งที่พบสูงเป็นอันดับ 3 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับและท่อน้ำดี และมะเร็งปอด และอันดับ 2 ในเพศหญิงรองจากมะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้นมักจะไม่มีอาการ โดยอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ ถ่ายเป็นเลือด ปวดท้อง นิสัยการขับถ่ายผิดปรกติไปจากเดิมเช่นท้องผูก ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระลำเล็กลง มักจะเกิดในมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมักเป็นระยะหลัง และมักจะเกิดหากก้อนมะเร็งอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ข้างซ้าย (ดูรูปภาพที่ 1 ประกอบ)
- การตรวจพบมะเร็งลำไส้ตั้งแต่ระยะแรกๆ และทำการรักษาจะได้ผลการรักษาที่ดี โดยเฉพาะหากตรวจพบตั้งแต่ตอนยังเป็นติ่งเนื้อซึ่งยังไม่กลายเป็นมะเร็งและทำการตัดออกจะเป็นการป้องกันไม่ให้ติ่งเนื้อชิ้นนั้นเจริญเป็นมะเร็งได้
มีการศึกษาวิจัยยืนยันแล้วว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
รูปที่ 1 แสดงลักษณะรอยโรคและอาการของผู้ป่วย รูปที่ 1ก ติ่งเนื้อหรือมะเร็งขนาดเล็ก ระยะนี้มักจะไม่มีอาการ รูปที่ 1ข แสดงก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ที่ลำไส้ใหญ่ข้างซ้าย ซึ่งจะเห็นว่าก้อนเบียดรูลำไส้ให้ขนาดเล็กลงทำให้อุจจาระผ่านได้ลำบากผู้ป่วยจะมีท้องผูกหรือท้องผูกสลับท้องเสีย ปวดท้อง อุจจาระลำเล็กลง และก้อนอาจมีเลือดออกทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นเลือดและอาจมีภาวะซีดเหนื่อยง่ายได้ รูปที่ 1ค แสดงก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ที่ลำไส้ใหญ่ด้านขวา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการเหนื่อยง่ายจากภาวะซีดหรือโลหิตจางจากการเสียเลือดเรื้อรัง แต่เนื่องจากก้อนอยู่ห่างจากรูทวารหนัก เลือดที่ออกมักจะคลุกเคล้าไปกับอุจจาระทำให้ไม่เห็นอุจจาระเป็นเลือด และไม่ค่อยพบอาการที่เกิดจากลำไส้อุดตันเนื่องจากอุจจาระที่บริเวณลำไส้ส่วนนี้ยังเป็นของเหลว จึงมักจะสามารถผ่านก้อนเนื้อไปได้
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
บุคคลทั่วไป คนทั่วไปที่อายุ 50 ปีขึ้นไปทุกคนจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางและควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตามพบอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้นในคนอายุน้อยลงในช่วงหลัง ในบางแนวทางปฏิบัติจึงแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 45 ปี สำหรับอายุที่ควรหยุดคัดกรอง แนวทางปฏิบัติส่วนใหญ่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จนถึงอายุ 75 หรือ85 ปี ขึ้นกับสุขภาพของคนคนนั้น โดยจะพิจารณาหยุดการตรวจคัดกรองหากคาดว่าอายุขัยของคนคนนั้นเหลือน้อยกว่า 10 ปี
ผู้มีความเสี่ยงสูง ผู้มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองเร็วขึ้นตามความเสี่ยงที่บุคคลผู้นั้นมีได้แก่
- ผู้ป่วยโรคพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีญาติลำดับที่ 1 (บิดา มารดา พี่ น้องร่วมสายเลือด) ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งสูง
- ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังหรือ inflammatory bowel disease (IBD)
- ผู้ป่วยที่มีประวัติมีติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ หรือเคยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันในประเทศไทยมีวิธีที่เป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับ 3 วิธีได้แก่ การตรวจอุจจาระเพื่อหาเลือดออกแฝง การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonography) สำหรับการตรวจเลือดเพื่อหาค่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งมีการตรวจกันอย่างแพร่หลายในเวชปฏิบัติมีความถูกต้องแม่นยำไม่ดีพอ มีผลบวกและผลลบลวงสูง จึงไม่ถูกแนะนำให้ใช้เป็นวิธีคัดกรองมาตรฐาน โดยแต่ละวิธีมีหลักการและจุดดีจุดด้อยดังกล่าวต่อไป
การตรวจอุจจาระหาเลือดออกแฝง
ใช้หลักการว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้นจะมีเลือดออกได้โดยยังไม่มีอาการแสดงอย่างอื่น ๆ โดยเลือดอาจออกปริมาณไม่มากหรือก้อนอยู่ในตำแหน่งลึกทำให้ไม่เห็นเลือดออกปนมากับอุจจาระโดยตาเปล่า โดยหากผลการตรวจเป็นบวกต้องเข้ารับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อไปเพื่อหาสาเหตุ หากผลเป็นลบให้ตรวจติดตามซ้ำทุก 1-2 ปี
ข้อดีของการคัดกรองด้วยวิธีนี้คือสะดวก ทำได้ง่ายและปลอดภัย และราคาค่าตรวจอุจจาระไม่แพง โดยมีผลการศึกษาพบว่าสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ร้อยละ 15-33 เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเนื่องจากสามารถตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะต้นมากกว่า
ข้อด้อยของการคัดกรองโดยวิธีตรวจอุจจาระหาเลือดออกแฝงคือเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ โดยมีความไวในการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ร้อยละ 80 และความไวในการตรวจพบติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพียงร้อยละ 40-50 เทียบกับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะรอยโรคของลำไส้ใหญ่ด้านขวาจะพลาดการวินิจฉัยได้มาก ดังนั้นแม้ผลการตรวจเป็นลบจึงไม่สามารถจะยืนยันได้ว่าไม่มีรอยโรค จึงแนะนำให้ทำการตรวจซ้ำทุก 1-2 ปีหากผลเป็นลบ และไม่แนะนำให้ใช้การตรวจอุจจาระหาเลือดออกแฝงเป็นเครื่องมือในการคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่
เป็นการตรวจโดยใช้กล้องสอดเข้าทางรูทวารหนักและใส่กล้องผ่านเข้าไปตลอดความยาวลำไส้ใหญ่ โดยต้องมีการเตรียมลำไส้ก่อนการส่องกล้องโดยการงดอาหารมีกากใย 2 วันก่อนการส่องกล้อง และมีการรับประทานยาถ่ายซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณ 2-3 ลิตรโดยค่อยๆ รับประทาน ขณะที่ทำจะมีการให้ยานอนหลับทำให้ไม่รู้สึกตัวในขณะทำ หลังจากทำหัตถการเสร็จจะตื่นรู้ตัวพูดคุยรู้เรื่องปรกติแต่ไม่ควรขับยานพาหนะ โดยใช้ระยะเวลาในการส่องกล้องประมาณ 20-60 นาทีขึ้นกับความยากง่ายและจำนวนติ่งเนื้อที่ตรวจพบ หากตรวจพบติ่งเนื้อแพทย์จะทำการตัดติ่งเนื้อออกได้ทันที โดยหากเตรียมลำไส้ดีและผลการส่องกล้องปรกติจะทำการนัดตรวจซ้ำที่ 10 ปี แต่หากตรวจพบติ่งเนื้อ ระยะเวลาที่จะนัดมาตรวจซ้ำจะสั้นลงขึ้นกับชนิด จำนวน และขนาดของติ่งเนื้อที่ตรวจพบ
ข้อดีของการตรวจวิธีนี้คือเป็นการตรวจที่มีความไวในการตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่มากที่สุด สามารถตรวจพบติ่งเนื้อทุกรูปแบบทั้งที่เป็นก้อนนูนและแบนราบ โดยมีความไวในการตรวจพบมะเร็งและติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลายเป็นมะเร็งสูงมากกว่าร้อยละ 95 โดยมีผลการศึกษาพบว่าสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ร้อยละ 40-60 นอกจากนี้ยังลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จึงเป็นการตรวจคัดกรองที่แนะนำให้ใช้ได้ทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงทั่วไปและผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ข้อด้อยของการตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่คือ มีความเสี่ยงจากหัตถการ ทั้งจากการได้รับยากล่อมประสาท ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงจากการทำหัตถการเองได้แก่ เลือดออก และลำไส้ทะลุ อย่างไรก็ตามมีอัตราเกิดเลือดออกหรือลำไส้ใหญ่ทะลุร้อยละ 0.1-0.36 และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัวมาก มีการตัดติ่งเนื้อ และการส่องกล้องโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์น้อย
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่
เป็นการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตัดภาพบริเวณลำตัวด้วยความละเอียดสูงแล้วนำมาประมวลสร้างเป็นภาพลำไส้ใหญ่ทั้งสองและสามมิติ โดยก่อนทำการตรวจต้องเตรียมลำไส้เหมือนกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ขณะที่ทำการตรวจจะมีการใส่ลมเข้าทางรูทวารหนักเพื่อป่องขยายลำไส้ใหญ่เพื่อให้สามารถเห็นรอยโรคได้ชัดขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการแน่นหรือปวดเกร็งท้องได้บ้าง โดยหากผลการตรวจปรกติจะนัดตรวจซ้ำทุก 5 ปี หากตรวจพบติ่งเนื้อขนาด 6 มม. ขึ้นไป หรือพบติ่งเนื้อขนาดใดก็ได้ 3 อันขึ้นไป ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อเพื่อตัดติ่งเนื้อออกต่อไป
ข้อดีของการตรวจคัดกรองวิธีนี้ คือ มีความไวสูงพอสมควร โดยพบความไวในการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ร้อยละ 90 และความไวในการตรวจพบติ่งเนื้อขนาดใหญ่กว่า 1 ซม.ร้อยละ 80 เทียบกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ สามารถตรวจพบพยาธิสภาพที่อยู่นอกลำไส้ใหญ่ได้ด้วย และมีความเสี่ยงจากการทำต่ำกว่าการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยมีโอกาสเกิดลำไส้ทะลุจากการเป่าลมเพื่อขยายลำไส้น้อยมากมีรายงานร้อยละ 0.05 และไม่มีความเสี่ยงจากการได้รับยากล่อมประสาท
ข้อด้อยของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่คือมีความไวต่ำในการตรวจพบรอยโรคชนิดแบนราบหรือบุ๋ม มีความไวต่ำในติ่งเนื้อขนาดเล็กโดยพบเพียงร้อยละ 60 สำหรับติ่งเนื้อ 6-9 มม. ต้องสัมผัสกับรังสี และหากตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่จะต้องทำการนัดมาตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อตัดติ่งเนื้ออีกรอบ ทำให้ต้องเตรียมลำไส้สองหนและเสียค่าใช้จ่ายทั้งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และส่องกล้องลำไส้ใหญ่ซึ่งมีราคาสูงทั้งสองการตรวจ
สรุป
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย การตรวจคัดกรองหรือเฝ้าระวังที่ดีและถูกต้องจะช่วยให้ตรวจพบรอยโรคได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือมะเร็งระยะแรกทำให้สามารถป้องกันหรือให้การรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองอย่างถูกต้องโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ควรรอให้มีอาการแล้วจึงค่อยตรวจ การไม่มีประวัติครอบครัวไม่ได้เป็นข้อยกเว้นว่าไม่ต้องตรวจคัดกรอง รวมถึงไม่ควรเชื่อถือผลการตรวจเลือดหาค่ามะเร็งลำไส้เนื่องจากเป็นการตรวจที่ไม่มีความแม่นยำเพียงพอ