ผศ. นพ. ณัฐภัทร ตั้งตรงจิตร

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) คือตะกอนของน้ำย่อยที่แข็งตัวซึ่งก่อตัวในถุงน้ำดี นิ่วอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟบางรายมีนิ่วโดยไม่มีอาการใดๆในขณะที่บางรายมีอาการปวดอย่างรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน

นิ่วในถุงน้ำดีพบได้บ่อย โดยมีอุบัติการณ์ทั่วโลกประมาณ 10–20% โดยเฉพาะในกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีปัจจัยต่อไปนี้

  • อายุ: ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากอายุ 40 ปี
  • เพศ: ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์หรือขณะใช้ฮอร์โมนบำบัด
  • เชื้อชาติและพันธุกรรม: ประชากรบางกลุ่ม เช่น ชนพื้นเมืองอเมริกันและฮิสแปนิก มีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีสูงกว่าคนทั่วไป
  • โรคอ้วน เบาหวานและการรับประทานอาหาร: การมีน้ำหนักเกินและรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีสูงกว่าคนทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ยาหรือผ่านการผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) ก็มีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น การผ่าตัดกระเพาะอาหาร การใช้ยาบางชนิด การตั้งครรภ์ เป็นต้น

แม้ว่าคนจำนวนมากจะมีนิ่วในถุงน้ำดี แต่มีเพียงประมาณ 20–30% ของคนในกลุ่มนี้ เท่านั้นที่มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อน คนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองมีนิ่วในถุงน้ำดี เว้นแต่จะทำให้เกิดอาการปวดหรือตรวจพบโรคอื่นระหว่างการตรวจทางการแพทย์

อาการทั่วไปของนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่ ปวดท้องด้านขวาบนหรือใต้ลิ้นปี่ โดยมักปวดอย่างกะทันหันและรุนแรง อาจปวดนานไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมง มักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารมื้อหนัก อาการอื่นที่พบ เช่น คลื่นไส้และอาเจียน อาหารไม่ย่อยและท้องอืด เป็นต้น หากนิ่วในถุงน้ำดีทำให้เกิดการอุดตันหรือติดเชื้ออย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการที่รุนแรงเพิ่มเติม ได้แก่ มีไข้หนาวสั่น ตาตัวเหลือง อาการปวดรุนแรงและต่อเนื่อง ปัสสาวะสีเข้มและอุจจาระสีซีด ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์พันที

 

การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

1. การตรวจเลือด เป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อมองหาการติดเชื้อหรือการอุดตันท่อน้ำดี

2. อัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound upper abdomen) เป็นการตรวจวินิจฉัยหลัก ได้รับความนิยมมากและมีความแม่นยำสูง ทำโดยใช้คลื่นเสียงสร้างภาพของถุงน้ำดี

3. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่องท้อง (CT scan or MRI) สามารถช่วยตรวจหานิ่วและภาวะแทรกซ้อนได้ละเอียดมากขึ้น เช่น การอักเสบติดเชื้อหรือการอุดตันท่อน้ำดี เป็นต้น

 

การรักษา ขึ้นอยู่กับว่านิ่วในถุงน้ำดีทำให้เกิดอาการหรือไม่

1. กรณีที่ไม่มีอาการ หากพบนิ่วในถุงน้ำดีแต่ไม่ก่อให้เกิดอาการปวด ก็ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา

2. นิ่วในถุงน้ำดีที่ก่อเกิดอาการ ได้แก่ อาการปวดหรือภาวะแทรกซ้อน การรักษาหลัก ได้แก่ การผ่าตัดนำถุงน้ำดีออก (Cholecystectomy) สามารถทำได้โดยการผ่าตัดแผลเล็ก ๆ (การผ่าตัดผ่านกล้อง) หรือการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้องในกรณีที่โรคซับซ้อน

3. การใช้ยาเพื่อละลายนิ่ว ปัจจุบันไม่แนะนำในทั้งในผู้ป่วยที่มีหรือไม่มีอาการก็ตาม เนื่องจากมีประสิทธิการรักษาต่ำและมีการกลับมาเป็นซ้ำสูง อาจเพียงมีข้อบ่งชี้ในการป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีสำหรับผู้ป่วยบางราย

 

โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุ, เพศหญิง, เชื้อชาติและพันธุกรรม, โรคอ้วน เบาหวานและการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง, การลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยอื่นๆ เช่น การผ่าตัดกระเพาะอาหาร การใช้ยาบางชนิด การตั้งครรภ์

ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดี มีประมาณ 20-30% ที่มีอาการ ซึ่งได้แก่ ปวดจุกแน่นท้องช่วงขวาบนหรือใต้ลิ้นปี่เป็นๆหายๆ กรณีมีไข้หนาวสั่น ตาตัวเหลือง อาการปวดรุนแรงและต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน ควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

 

การตรวจวินิจฉัยหลักทำได้โดยการทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound upper abdomen) หรือ การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่องท้อง (CT scan or MRI)

การรักษา ขึ้นอยู่กับว่านิ่วในถุงน้ำดีทำให้เกิดอาการหรือไม่

1. กรณีที่ไม่มีอาการ หากพบนิ่วในถุงน้ำดีแต่ไม่ก่อให้เกิดอาการปวด ก็ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา

2. นิ่วในถุงน้ำดีที่ก่อเกิดอาการหรือมีภาวะแทรกซ้อน การรักษาโดยมาตรฐาน ได้แก่ การผ่าตัดนำถุงน้ำดีออก (Cholecystectomy)

3. การใช้ยาเพื่อละลายนิ่ว ปัจจุบันยังไม่แนะนำในทั้งในผู้ป่วยที่มีหรือไม่มีอาการก็ตาม