อ.พญ.ณัฐสุดา อ่วมแป้น

วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ และหน่วยโรคทางเดินอาหาร 

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โรคกระเพาะอาหารเป็นโรคที่พบบ่อยในประชากรไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ร้ายแรง ผู้ป่วยจะมีอายุขัยเฉลี่ยเท่ากับผู้ที่ไม่เป็นโรคกระเพาะอาหาร แต่ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารอาจมีอาการผิดปกติเป็นๆหายๆ จนต้องลาหยุดงานหรือส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้นที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการของโรคกระเพาะอาหาร มีได้หลากหลาย เช่น

  • ปวดท้องบริเวณกลางท้องใต้ลิ้นปี่
  • แสบร้อนท้องใต้ลิ้นปี่
  • แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร หรือท้องอืด
  • อิ่มเร็วกว่าปกติ

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

  1. การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ในกระเพาะอาหาร
  2. การใช้ยาต้านการอักเสบกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค เป็นต้น
  3. ความเครียด ความวิตกกังวล
  4. การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
  5. การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา

เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร

การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบได้บ่อยในประชากรไทย โดยพบประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และพบได้มากถึงร้อยละ 50 ของประชากรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งอาจปนเปื้อนจากอุจจาระหรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อได้ เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ผู้ที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารจึงควรได้รับการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร

การตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร สามารถทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นหลัก โดยวิธีหลักที่ใช้ในการตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ได้แก่

  1. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนและตัดชิ้นเนื้อจากกระเพาะเพื่อตรวจการติดเชื้อ โดยแนะนำการส่องกล้องในกลุ่มผู้ป่วยดังต่อไปนี้
    • ผู้ที่เริ่มมีอาการปวดท้องตอนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
    • ผู้ที่ได้รับยายับยั้งการหลั่งกรดแล้วอาการปวดท้องไม่ดีขึ้น
    • ผู้มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ญาติสายตรงของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร
    • ผู้ที่มีสัญญาณเตือน เช่น
      • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำเหนียวคล้ายยางมะตอย
      • อาเจียนเป็นเลือดหรืออาเจียนสีดำ
      • อาเจียนบ่อยกว่า 10 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
      • โลหิตจาง มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หน้ามืด
      • รับประทานอาหารแล้วอิ่มเร็ว
      • น้ำหนักลดผิดปกติ
  2. การตรวจหาเชื้อในอุจจาระ 
  3. การเป่าลมหายใจเพื่อตรวจหาเชื้อ 

การรักษาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร

สูตรยากำจัดเชื้อประกอบด้วยยายับยั้งการหลั่งกรดและยาฆ่าเชื้อ รับประทานยาเป็นระยะเวลา 7-14 วัน หลังจากรับประทานยากำจัดเชื้อหมดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจยืนยันว่ากำจัดเชื้อสำเร็จด้วยวิธีที่ไม่ต้องส่องกล้อง ได้แก่ การเป่าลมหายใจตรวจเชื้อ หรือการตรวจอุจจาระ

การรักษาเชื้อให้หายขาด นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ยังช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร และลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ถึงแม้ผู้ติดเชื้อบางรายจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แพทย์ยังคงแนะนำให้รักษาเนื่องจากเชื้อทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง เมื่อเวลาผ่านไปเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารจะเกิดการฝ่อและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ถ่ายอุจจาระสีดำ อาเจียนเป็นเลือด หรือมีภาวะโลหิตจาง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อที่แม่นยำและรักษาการติดเชื้อให้หายขาดโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาอาการของโรค ป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร และลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น