ทีมกรรมการฝ่ายกิจกรรมสังคม สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย
โดย อ.เกศินี เธียรกานนท์, อ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล, อ.สติมัย อนิวรรณน์, อ.พิเศษ พิเศษพงศา และ อ.ทยา กิติยากร เป็นผู้ให้การรับรองเนื้อหาบทความ

ทำความรู้จักสายให้อาหารทางหน้าท้อง

สายอาหารทางหน้าท้อง หรือ เรียกอีกชื่อว่าสายสวนกระเพาะอาหาร (Percutaneous Endoscopic Gastrostomy หรือ PEG) คือ การส่องกล้องทำช่องทางให้อาหารผ่านผนังหน้าท้องสู่กระเพาะอาหารโดยตรง  ซึ่งในปัจจุบันเป็นวิธีมาตรฐานของการให้อาหารแก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ในระยะยาว โดยชนิดของสายสวนกระเพาะอาหารมีทั้งสายแบบยาว และสายแบบสั้นติดผิวหนัง หรือที่เรียกสั้นๆว่าชนิดกระดุม

 

ผู้ที่สามารถใช้สายให้อาหารทางหน้าท้อง

ผู้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากเองได้ หรือทานได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของที่ร่างกายควรได้รับ ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด สมองเสื่อม ผู้ป่วยกลืนลำบาก ผู้ป่วยเสี่ยงการสำลัก ผู้ป่วยที่ต้องเว้นการกินทางปากบ่อยๆ จนขาดสารอาหาร เช่น เหนื่อยบ่อยจากโรคปอดหรือหัวใจ, ผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปาก คอหอย หรือหลอดอาหารระหว่างการรักษา นอกจากนี้ อาจพิจารณาในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใส่สายให้อาหารทางจมูก (NG , nasogastric tube) นานกว่า 4-6 สัปดาห์ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของการใช้สายให้อาหารทางจมูกระยะยาว

 

ประโยชน์ของการใช้สายให้อาหารทางหน้าท้อง

  • ลดภาวะแทรกซ้อนในบริเวณโพรงจมูกจากการใส่สายให้อาหารทางจมูกเป็นเวลานาน เช่น แผลกดทับจากสายที่ขอบจมูก รวมถึงโพรงจมูกหรือไซนัสอักเสบ

  • ลดความรำคาญจากการมีสายในลำคอ

  • สามารถฝึกกลืน หรือ กินอาหารทางปากร่วมกับการให้อาหารทางสายยางได้ดีขึ้น

  • ลดความถี่ของการต้องเปลี่ยนสาย เนื่องจากสายยางทางจมูก จำเป็นต้องเปลี่ยนสาย 1-2 เดือน/ครั้ง แต่สายให้อาหารทางหน้าท้อง ผลิตจากวัสดุที่คงทนกว่า จึงมีระยะเวลาการใช้ได้นานกว่า 6 เดือนหากดูแลได้ถูกต้อง
  • เพิ่มความสวยงามเนื่องจากสายสามารถปิดฟังโดยใช้เสื้อผ้าปกติ
  • กรณีหลังจากใส่สายแล้ว ภายหลังไม่จำเป็นต้องใช้การให้อาหารทางสายยาง และกลับมากินทางปากได้ปกติ สามารถนำสายให้อาหารทางกระเพาะอาหารออกได้

ข้อเสียของการใช้สายให้อาหารทางหน้าท้อง

  • ผู้ป่วยจำเป็นต้องเปิดแผลเล็กๆทางหน้าท้อง โดยอาจเจ็บแผลหลังใส่ครั้งแรกประมาณ 1 สัปดาห์

  • โดยส่วนมากหลังการใส่สายทางหน้าท้องครั้งแรก ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล

  • มีค่าใช้จ่ายการวางสาย รวมถึงค่าใช้จ่ายของสายที่ใช้เปลี่ยนสูงกว่าสายยางทางจมูก
  • ต้องมีการดูแลหมุนสาย และทำแผลด้วยน้ำเกลือ อย่างน้อยวันละ1 ครั้ง
  • หากดูแลไม่ดี มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นแผลกดทับที่หน้าท้อง ได้เช่นเดียวกัน
  • ไม่ช่วยป้องกันการเกิดปอดอักเสบจากการสำลัก

 

ขั้นตอนการใส่สายให้อาหารทางหน้าท้อง

ก่อนการใส่สายผู้ป่วยทุกรายจะต้อง เพื่อประเมินความพร้อม โดยเจาะเลือดตรวจการแข็งตัวของเลือด และหยุดยาต้อานเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือดตามระยะเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยต้องไม่มีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังหน้าท้องบริเวณที่ต้องการวางสาย หรือเคยผ่าตัดกระเพาะมาก่อน

การใส่สายสวนกระเพาะอาหารผ่านการส่องกล้องครั้งแรกใช้เวลาในการทำประมาณ 15-30 นาที โดยพยาบาล หรือ วิสัญญีแพทย์จะให้เพื่อให้ผู้ป่วยหลับ และแก้อาการปวดทางหลอดเลือดดำ จากนั้นแพทย์ทางเดินอาหารจะส่องกล้องประเมินทางเดินอาหารส่วนบน หากไม่มีข้อห้ามเช่น มีแผลใหญ่ หรือม ตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารโดยบังเอิญ แพทย์ก็จะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วเจาะใส่สายยึดระหว่างกระเพาะอาหารและผิวหนังหน้าท้องเพื่อให้เป็นทางให้อาหารแก่ผู้ป่วย

หลังการใส่สายผู้ป่วยมักใช้เวลาไม่นานก็จะฟื้น แต่ยังต้องอยู่ดูอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลต่ออย่างน้อย 1 คืน โดยทั่วไปแพทย์มักให้งดน้ำและอาหารประมาณ 4-24 ชั่วโมง ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย หากไม่พบภาวะแทรกซ้อนก็สามารถเริ่มให้อาหารทางสายสวยกระเพาะได้

 

การดูแลสายให้อาหารทางหน้าท้อง

โอกาสติดเชื้อจากการวางสายให้อาหารทางหน้าท้องมีต่ำกว่า 1% ส่วนใหญ่จะเกิดจากที่ผู้ป่วย หรือผู้ดูแลไม่ได้ดูแลสายอย่างถูกต้อง

  • ผู้ป่วย หรือ ผู้ดูแล จะต้องทราบตำแหน่งของแป้นล็อคสายให้อาหารที่หน้าท้อง โดยตำแหน่งที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปขึ้นกับ ขนาดตัว และความหนาของผนังหน้าท้องผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ป่วยหรือผู้ดูแล จะต้องคอยตรวจสอบตำแหน่งนี้อยู่เสมอ ไม่ให้แป้นหลวมหรือ แน่นจนเกินไป อันจะเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนของสายให้อาหารได้

  • ก่อนทำความสะอาดแผลทุกครั้ง ต้องล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
  • ระยะ 1-2 สัปดาห์แรกหลังใส่สายให้อาหารครั้งแรก ควรทำความสะอาดแผลทุกวันโดยใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เช็ดรอบแผลรวมถึงบริเวณใต้แป้นล๊อคจนสะอาด ซับให้แห้ง
  • ทุกครั้งที่ทำแผล ควรหมุนสายรอบตัวเอง ให้เกิน 1 รอบวง หากสายหมุนไม่ได้ควรมาพบแพทย์ทันที
  • วางผ้าก๊อซปราศจากเชื้อขนาดเล็กไว้ระหว่างแป้นล๊อคสายและหนังหน้าท้องหลังทำแผลทั้งสองข้าง จากนั้นแปะพลาสเตอร์ชิดตัวสายให้ตั้งฉาก เพื่อตรึงไม่ให้สายโยกขยับระหว่างวัน
  • เมื่อแผลแห้ง สามารถอาบน้ำได้ โดยให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุก เช็ดปิดแผลอีกครั้งหลังอาบน้ำ
  • ระหว่างการใช้งาน รูแผลอาจจะมีน้ำ นม หรือเลือดซึมได้เล็กน้อย แต่ไม่ควรซึมไหลออกมาเปรอะเปื้อน
  • หลังการให้อาหารผ่านสาย ควรใช้น้ำสะอาด ล้างสายไม่ให้มีเศษอาหารค้างอยู่ในสาย อันจะเพิ่มโอกาสสายอุดตันได้
  • หากไม่ได้ใช้สาย ควรไล่น้ำเปล่า 30-50 มล. อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
  • ทำความสะอาด ปาก ลิ้น และฟัน ของผู้ป่วยทุกวันถึงแม้จะไม่ได้ให้อาหารทางปาก เพื่ออนามัยที่ดี
  • แม้จะใส่สายให้อาหารทางหน้าท้อง แต่หากผู้ป่วยสามารถกินอาหารทางปากได้ ก็สามารถทานทางปากได้ตามปกติ
  • หมั่นสังเกตุหากมีความผิดปกติของแผลรูเปิด หรือ สายให้อาหาร มาพบแพทย์ตามคำแนะนำ ทุกประมาณ 3-6 เดือน เพื่อดูแล ตกแต่งแผล และเปลี่ยนสาย

 

การเปลี่ยนสายให้อาหารทางหน้าท้อง

สายให้อาหารทางหน้าท้องส่วนมากมีอายุการใช้งาน 6 เดือน – 1 ปี ขึ้นกับการดูแล โดยจะเริ่มเปลี่ยนได้หลังจากใส่สายครั้งแรก 4 สัปดาห์ โดยการเปลี่ยนสายให้อาหารทดแทนนี้ ใช้เวลาเพียง 10 นาที และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล โดยทั่วไปควรเปลี่ยนสายทุก 6 เดือน แต่หากสายเก่าที่ใส่อยู่ บวม ตัน แตก หมดสภาพ ก็ควรนำมาเปลี่ยนในทันที

 

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องเป็นเวลานาน

1. สายให้อาหารเป็นคราบสกปรก ส่วนใหญ่เกิดจากการล้างสายไม่สะอาด หรืออาหารที่ให้ข้นเกินไป
แก้ไขโดยใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำ ดันเพื่อล้างสาย หรือใช้ น้ำส้มสายชู 5 มล.ต่อน้ำสะอาด 15 มล. ฉีดผ่านสายแล้วหักพับสายทางหน้าท้องไว้ ให้น้ำหล่อค้างภายในสายนานประมาณ 15 นาที ทำจนน้ำหมดแก้ว ควรทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

2. สายเปื่อย บวม เนื่องจากใส่สายเป็นเวลานาน ควรมาพบแพทย์เพื่อเปลี่ยนสายใหม่

3. สายหลุดออกมาจากผนังหน้าท้อง ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดปิดไว้ แล้วมาพบแพทย์ทันที เพื่อเปลี่ยนสายใหม่ โดยนำสายสวนกระเพาะอาหารที่หลุดออกมาไปด้วย

4. เกิดแผลกดทับหน้าท้องเป็นรอยแดง มักเกินจากตำแหน่งของแป้นล๊อคไม่อยู่กับที่ หรือ ผู้ป่วยบางรายมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นทำให้ความหนาของผนังหน้าท้องเพิ่ม ก่อให้เกิดเกิดการกดทับจากแผ่นตรึงสายให้อาหารให้อยู่กับที่ แก้ไขโดยปรับแป้นล๊อคให้หลวมขึ้น สายให้อาหารจะหย่อนลง